วิสัยทัศน์ กองพิสูจน์หลักฐานกลาง เป็นตำรวจมืออาชีพด้านพิสูจน์หลักฐาน เพื่อความผาสุกของประชาชน 

ความหมายของเลขบัตรประชาชนทั้ง 13 หลัก


x xxxx xxxxx xx x

      หลักที่ 1
      หมายถึงประเภทบุคคลซึ่งมี 8 ประเภท คือ

  • ประเภทที่ 1 คือ คนที่เกิดและมีสัญชาติไทย และได้แจ้งเกิดภายในกำหนดเวลา หมายความว่า
    เด็กคนใดก็ตามที่เกิดตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2527 เป็นต้นไป
    อันเป็นวันเริ่มแรกที่เขาประกาศให้ประชาชนทุกคน ต้องมีเลขประจำตัว 13 หลัก เมื่อพ่อแม่ผู้ปกครองไปแจ้งเกิดที่อำเภอ หรือสำนักทะเบียนในเขตที่อยู่ภายใน 15 วันนับแต่เกิดมา ตามที่กฎหมายกำหนด เด็กคนนั้นก็ถือเป็นบุคคลประเภท 1 และจะมีเลขประจำตัวขึ้นด้วยเลข 1
  • ประเภทที่ 2 คือ คนที่เกิดและมีสัญชาติไทย ได้แจ้งเกิดเกินกำหนดเวลา หมายความว่า
    เด็กคนใดก็ตามที่เกิดตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2527 เป็นต้นไป
    แล้วบังเอิญว่าพ่อแม่ผู้ปกครองลืมหรือติดธุระ ทำให้ไม่สามารถไปแจ้งเกิดที่อำเภอหรือเขตภายใน 15 วันตามกฎหมายกำหนด เมื่อไปแจ้งภายหลัง เด็กคนนั้นก็จะกลายเป็นบุคคลประเภท 2
  • ประเภทที่ 3 คือ คนไทยและคนต่างด้าว ที่มีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว และมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน
    ในสมัยเริ่มแรก (คือตั้งแต่ก่อนวันที่ 31 พฤษภาคม 2527)หมายความว่า บุคคลใดก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นคนไทย
    หรือคนต่างด้าว ที่มีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว และมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ณ ที่ใดที่หนึ่งในประเทศไทย มาตั้งแต่ก่อนวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2527 คนนั้นถือว่าเป็นบุคคลประเภท 3
  • ประเภทที่ 4 คือ คนไทยและคนต่างด้าว ที่มีใบสำคัญคนต่างด้าวแต่แจ้งย้ายเข้า
    โดยยังไม่มีเลขประจำตัวประชาชน ในสมัยเริ่มแรก หมายความว่า คนไทยหรือคนต่างด้าว ที่มีใบสำคัญคนต่างด้าว
    ที่อาจจะเป็นบุคคลประเภท 3 คือมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเดิมอยู่แล้ว แต่ยังไม่ทันได้เลขประจำตัวก็ขอย้ายบ้านไปเขตหรืออำเภออื่น ก่อนช่วงวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2527 ก็จะเป็นบุคคลประเภท 4 ทันที เช่น
    ส้มจี๊ดมีชื่ออยู่ในสำนักทะเบียนเขตคลองสาน มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2501 ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ 2527 ส้มจี๊ดก็ขอย้ายบ้านไปเขตดุสิต โดยที่ส้มจี๊ดยังไม่ทันได้เลขประจำตัวจากเขตคลองสาน
    พอแจ้งย้ายเข้าเขตดุสิต ส้มจี๊ดก็จะกลายเป็นบุคคลประเภท 4 มีเลขประจำตัวขึ้นต้นด้วย 4 กลายเป็น 4 1001
    01245 29 9 ทันที แต่ถ้าส้มจี๊ดย้ายจากเขตคลองสานเดิม ไปเขตดุสิต หลังวันที่ 31 พฤษภาคม 2527
    ส้มจี๊ดก็ยังเป็นบุคคลประเภท 3 อยู่ เพราะถือว่าจะได้เลขประจำตัวจากเขตคลองสานแล้ว
    จะย้ายอย่างไรก็ไม่เปลี่ยนแปลง

    การกำหนดให้บุคคลเริ่มมีเลขประจำตัว 13 หลักในทะเบียนบ้านหรือบัตรประชาชน โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1
    มกราคม 2527 เป็นต้นไป จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2527 อันเป็นวันสุดท้าย ของการดำเนินการให้ประชาชน
    ที่ไม่มีเลขประจำตัวในบัตรหรือทะเบียนบ้าน ได้มีเลขประจำตัวจนครบแล้วนั้น ก็เพราะก่อนหน้านี้ประเทศไทยยังไม่เคยมีการกำหนดเลขประจำตัวดังกล่าวมาก่อนเลย ดังนั้น ช่วงที่ว่าจึงเป็นระยะเวลาจัดระบบให้เข้าที่เข้าทาง เพราะหลังจากวันที่ 31 พฤษภาคม 2527 แล้ว
    ทุกคนจะต้องมีเลขประจำตัวเพื่อสำแดงตนว่า เป็นบุคคลประเภทใด โดยดูตามเงื่อนไขในแต่ละกรณี ซึ่งมีอีก 4 ประเภท คือ ประเภทที่ 5-8
  • ประเภทที่ 5 คือ คนไทยที่ได้รับอนุมัติให้เพิ่มชื่อ เข้าไปในทะเบียนบ้านในกรณีตกสำรวจ หรือกรณีอื่นๆ
    เช่น ส้มจี๊ดมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเขตดุสิตอยู่แล้ว
    แต่บังเอิญว่าตอนที่มีการสำรวจรายชื่อผู้อยู่ในบ้าน เกิดความผิดพลาดทางเทคนิคทำให้ชื่อของส้มจี๊ดหายไปจากทะเบียนบ้าน เมื่อไปแจ้งเจ้าหน้าที่และตรวจสอบแล้วว่าตกสำรวจจริง
    หรือจะเป็นเพราะกรณีอื่นใดก็ตาม เจ้าหน้าที่ก็จะเพิ่มชื่อให้
    แต่ส้มจี๊ดก็จะมีหมายเลขในทะเบียนบ้านเป็นบุคคลประเภท 5 และบัตรประชาชนจะขึ้นต้นด้วยเลข 5 ทันที คือ
    กลายเป็น 5 1001 01245 29 9
  • ประเภทที่ 6 คือ ผู้ที่เข้าเมืองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และผู้ที่เข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมาย
    แต่อยู่ในลักษณะชั่วคราว กล่าวคือ คนที่มาอาศัยอยู่ในประเทศไทย แต่ยังไม่ได้สัญชาติไทย
    เพราะทางการยังไม่รับรองทางกฎหมาย เช่น ชนกลุ่มน้อยตามชายแดน หรือชาวเขา
    กลุ่มนี้ถือว่าเป็นผู้เข้าเมืองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่วนบุคคลที่เข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายแต่อยู่ชั่วคราว เช่น นักท่องเที่ยวหรือชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทย แม้บางคนจะถือพาสปอร์ตประเทศของตน แต่อาจจะมีสามีหรือภริยาคนไทย จึงไปขอทำทะเบียนประวัติ เพื่อให้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านสามีหรือภริยา คนทั้งสองแบบที่ว่า ถือว่าเป็นบุคคลประเภท 6
  • ประเภทที่ 7 คือ บุตรของบุคคลประเภทที่ 6 ซึ่งเกิดในประเทศไทย
    คนกลุ่มนี้ในทะเบียนประวัติจะมีเลขประจำตัวขึ้นต้นด้วยเลข 7 เช่น 7 1012 2345 133
  • ประเภทที่ 8 คือ คนต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยถูกต้องตามกฎหมาย คือ ผู้ที่ได้รับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวหรือคนที่ได้รับการแปลงสัญชาติเป็นสัญชาติไทย และคนที่ได้รับการให้สัญชาติไทย ตั้งแต่หลังวันที่ 31
    พฤษภาคม 2527 เป็นต้นไปจนปัจจุบัน คนกลุ่มนี้เลขในทะเบียนประวัติจะขึ้นด้วยเลข 8

    คนทั้ง 8 ประเภทนี้ จะมีเพียงประเภทที่ 3, 4 และ 5 เท่านั้น ที่จะมีบัตรประชาชนได้เลย ส่วนประเภทที่ 1 และ 2 จะมีบัตรประชาชนได้ ก็ต่อเมื่อมีอายุถึงเกณฑ์ทำบัตรประจำตัวประชาชน คืออายุ 15 ปี
    แต่สำหรับบุคคลประเภทที่ 6, 7 และ 8 จะมีเพียงทะเบียนประวัติเล่มสีเหลืองเท่านั้นจะไม่มีการออกบัตรประชาชนให้

      หลักที่ 2 ถึงหลักที่ 5
      หมายถึงรหัสของสำนักทะเบียนที่ท่านมีชื่อในทะเบียนบ้านในขณะให้เลขสำหรับเด็กเกิดใหม่จะหมายถึงถิ่นที่เกิดเลยทีเดียว
      - โดยหลักที่ 2 และ 3 หมายถึงจังหวัด
      - หลักที่ 4 และ 5 หมายถึงอำเภอหรือเทศบาล

      หลักที่ 6 ถึงหลักที่ 10
      หมายถึงกลุ่มที่ของบุคคลแต่ละประเภทตามหลักแรก หรือหมายถึงเล่มที่ของสูติบัตรแล้วแต่กรณี

      หลักที่ 11 และ 12
      หมายถึงลำดับที่ของบุคคลในแต่ละกลุ่มประเภทหรือหมายถึงใบที่ของสูติบัตรแต่ละเล่มแล้วแต่กรณี

      หลักที่ 13
      คือ ตัวเลขตรวจสอบความถูกต้องของเลข 12 หลักแรก

      ตัวเลข 13 หลักที่กล่าวข้างต้น อันเป็นเลขประจำตัวประชาชนของแต่ละคนนี้ แม้จะมิใช่ตัวเลขที่เราต้องใช้เป็นประจำในชีวิตประจำวัน
      ยกเว้นใช้ในการกรอกเอกสารบางอย่าง เช่น การเปิดบัญชีธนาคาร ฯลฯ แต่เลขนี้ก็มีความสำคัญยิ่ง เพราะเป็นการสำแดงตัวตน
      “ความเป็นคนไทยหรือคนในประเทศไทย” ที่ทำให้เราสามารถอาศัยอยู่ในประเทศไทย และใช้สิทธิอย่างถูกต้องตามกฎหมายได้


       ขอขอบคุณข้อมูลข่าว : อมรรัตน์ เทพกำปนาท สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม


 
 

หน้าแรก  |  คำติชมของท่าน  |  กระดานสนทนา  

กองพิสูจน์หลักฐานกลาง
  Central Scientific Crime Detection Division
อาคาร 9-10 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เขตปทุมวัน กทม. 10330
โทร 0-2205-2251 โทรสาร 0-2251-3928
อีเมล์ : science@royalthaipolice.go.th